วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เศรษฐกิจ พอเพียง แบบ ชีวิตเพียง พอ















เศรษฐกิจ พอเพียง แบบ ชีวิตเพียง พอ




"โตแล้วแตก" เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งคือ
เมื่อเศรษฐกิจโตมากขึ้น ในที่สุดก็จะแตกออก
และก็จะมาเริ่มต้นกันใหม่
----------------------------------------------
เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่เศรษฐกิจสำหรับคนยากคนจน
ไม่ใช่เศรษฐกิจที่จะต้องมาห่อตัว พระองค์ท่านให้ร่ำรวย
แต่ร่ำรวยแล้วต้องรักษาให้คงอยู่ ร่ำรวยและต้องยั่งยืน
และต้องกระจายอย่างทั่วถึง

"เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไข เพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์
ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจาก การเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้าง พื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์ สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา (ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล) ได้ให้เกียรติมาบรรยายพิเศษเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับฟัง ดังนี้ ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมีฐานแนวคิดที่สะท้อนมาจากผลการพัฒนาของประเทศไทยตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันและสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว อาจกล่าวได้ว่า เวลานี้ระบบเศรษฐกิจโลกเหลือเพียงขั้วเดียวคือขั้วเสรีนิยมหรือทุนนิยม หรือ บริโภคนิยม ซึ่งในโลกทุนนิยมนี้ประเทศต่างๆ มุ่งแสวงหาความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเป็นที่ตั้ง และลักษณะสำคัญคือแสวงหาความร่ำรวยจากการลงทุน การบริโภคถือเป็นทฤษฎีหลักของระบบทุนนิยม ถ้าปราศจากจุดนี้แล้วถือว่าเจริญไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงเกิดภาวะของการแข่งขันกันอย่างรุนแรงและ มีการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคอยู่ตลอดเวลา โดยการกระตุ้นกิเลส ทำให้เกิดการอยาก ซึ่งจะทำให้ระบบนี้อยู่ได้ อย่างไรก็ตามสินค้าที่นำมาบริโภคทุกอย่างต้องผลิตมาจากวัตถุดิบที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติที่นำมาแปรรูปเพื่อให้ใช้งานได้ ขณะเดียวกันเมื่อมีการบริโภคก็ก่อให้เกิดของเสียออกมาในปริมาณเกือบจะเท่ากัน ฉะนั้นโลกจะต้องรับภาระอย่างมาก คือจะต้องป้อนวัตถุดิบเพื่อการบริโภคและหลังจากนั้นต้องแบกรับภาระขยะของเสียที่มาจากการบริโภค โดยที่การจัดการเรื่องกำจัดขยะเสียยังทำได้น้อยมาก การนำกลับมาใช้ใหม่มีแค่ 19 % ยิ่งเวลานี้มีการอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคจะเห็นว่าสินค้าประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งมีจำนวนมาก
ปัญหาคือทรัพยากรธรรมชาติจะแบกรับไหวหรือไม่ คำตอบก็คือไม่ไหว เพราะเวลานี้ทั่วโลกมีการบริโภคในอัตรา 3 : 1 คือทรัพยากรธรรมชาติถูกบริโภคไป 3 ส่วน แต่สามารถชดเชยกลับมาได้เพียง 1 ส่วน ซึ่งถ้ายังคงมีการบริโภคกันในอัตรานี้ต่อไป ก็จะต้องพบกับปัญหาในที่สุด อย่างไรก็ตามได้เริ่มมีกระแสของกลุ่มคนที่มีปัญญาเกิดขึ้น เพราะเริ่มมองเห็นถึงภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อสภาวะโลกปัจจุบัน ในประเทศไทยตั้งแต่มีแผนพัฒนาฉบับแรก ใน ปี 2505 ประเทศไทยได้มี การพัฒนาตามรูปแบบของทุนนิยมเช่นกันเพราะในตอนที่คิดจะทำแผนพัฒนาฯ ได้มีการเชิญ ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเข้ามาสอนวิชาการวางแผนให้ โดยมีการนำเอาปรัชญาการวางแผนแบบตะวันตกเข้ามาด้วยคือมุ่งสร้างความร่ำรวยทางด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว ซึ่งประเทศไทยก็ได้มีการพัฒนาให้เจริญเติบโตขึ้นจริง แต่เป็นความเจริญเติบโตที่สร้างและแลกกับการต้องสูญเสียป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายล้างไปเป็นจำนวนมาก จะเห็นว่าความเจริญเติบโต ซึ่งได้ดำเนินมา ตั้งแต่ปี 2505 บัดนี้ มีเหตุการณ์หนึ่งที่ก่อให้เกิดวิกฤตต่อเศรษฐกิจของประเทศ คือโตแล้วแตก เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งคือ เมื่อเศรษฐกิจโตมากขึ้น ในที่สุดก็จะแตกออก และก็จะมาเริ่มต้นกันใหม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการมองหาว่าอะไรคือสาเหตุของวิกฤตการณ์ฟองสบู่แตกครั้งนั้นจะพบว่าเป็นเพราะการเติบโตของไทยอยู่บนฐานที่ยังไม่มีความพร้อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ว่าการพัฒนาบ้านเมืองเหมือนการสร้างบ้านเวลาที่มีการสร้างบ้านสิ่งแรกที่ต้องทำคือต้องวางฐานรากฝังเสาเข็ม และเสาเข็มแต่ละต้นจะถูกคำนวณมาแล้ว ว่าต้องแบกน้ำหนักเท่าใดแล้วจึงสร้างบ้าน แน่นอนว่าถ้าเสาเข็มวางไว้สำหรับบ้านสองชั้นก็จะแบกรับได้แค่ บ้านสองชั้นเท่านั้น การพัฒนาประเทศก็เช่นกันแต่ที่ผ่านมาประเทศไทยเหมือนการย่างก้าวเข้าสู่การพัฒนาโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงฐานรากของประเทศ ซึ่งน่าจะมีฐานในภาคการเกษตรแต่กลับมุ่งไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีความต้องการปัจจัยสำคัญ 3 เรื่อง คือ
1) เงิน ซึ่งประเทศไทยอาจมีไม่พอก็ไปกู้มาเพิ่ม
2) เทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยไม่เคยสร้างอะไรขึ้นมาเองก็จะนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาใช้ และ
3) คน ซึ่งมาตรฐานการศึกษาของไทยต่ำลง มหาวิทยาลัยมากขึ้นแต่คุณภาพลดลง แต่ถ้าคนที่รู้ด้านการในประเทศไม่มีก็ไม่เป็นไรอีกก็จ้างต่างชาติเข้ามา
จะเห็นว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยตั้งอยู่บนฐานของคนอื่นทั้งสิ้น และเมื่อมีการก็ย้ายฐานการลงทุนออกไปเศรษฐกิจ ก็ล้มในที่สุด สถานการณ์นี้เป็นวัฏจักรของการพัฒนาเหมือนกับวัฏจักรเชิงพุทธคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงยึดหลักการพอดีตั้งแต่แรกโดยให้มีการพัฒนาไปตามขั้นตอน เป็นระยะ ๆ เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่เศรษฐกิจสำหรับคนยากคนจน ไม่ใช่เศรษฐกิจที่จะต้องมาห่อตัว พระองค์ท่านให้ร่ำรวยแต่ร่ำรวยแล้วต้องรักษาให้คงอยู่ ร่ำรวยและต้องยั่งยืน และต้องกระจายอย่างทั่วถึง พระองค์ท่านรับสั่งให้คำไว้สามคำเป็นหลักสามประการและฐานใหญ่ไว้หนึ่งฐาน เป็นแนวทางของการพัฒนาประเทศ และจะนำไปใช้ในการบริหารงานในองค์กรใดๆ ก็ได้ ดังนี้ ประการที่หนึ่ง ให้ใช้เหตุผลอย่าใช้กิเลสตัณหาเป็นเครื่องนำทาง อย่าเอาแต่กระแส ต้องมีความกล้าหาญเพียงพอที่จะเลือกหนทางว่าประเทศไทยต้องการจะพัฒนาไปทางไหนไม่จำเป็นต้องตามกระแสของโลก ประการที่สอง ทำอะไรพอประมาณ การพอประมาณคือตรวจสอบศักยภาพของตนเองก่อน ฐานของตนเองอยู่ตรงไหน การจะพัฒนาอะไรต้องดูจากศักยภาพที่มีความเข้มแข็งก่อน ประการที่สาม ทำอะไรให้มีภูมิคุ้มกันตลอดเวลา เพราะไม่รู้พรุ่งนี้จะมีอะไรเกิดขึ้น ปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การวางแผนพัฒนาทำได้ยาก มีปัจจัยความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา จึงต้องมีวิสัยทัศน์ ตัวอย่างเช่น เรื่องราคาน้ำมันต้องมองในอนาคต ถ้านำไบโอดีเซลมาใช้จะช่วยลดความเสี่ยงด้านราคาน้ำมันได้หรือไม่ เป็นต้น นอกจากสามคำนี้พระองค์ท่านทรงให้มีฐานรองรับที่สำคัญอีกคำหนึ่งคือ คนต้องดีด้วย ต้องมีจริยธรรมและคุณธรรม มีธรรมาภิบาล พระองค์ท่านทรงวางหลักการไว้ดีมาก แต่ปัญหาเกิดจากยังไม่มีความพยายามที่จะสร้างความเข้าใจกัน สุดท้าย คงต้องอันเชิญเป้าหมายในการครองแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ว่าเป้าหมายในการครองแผ่นดินของพระองค์ท่าน คือเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ซึ่งคนไทยทุกคนควรยึดคำนี้เป็นที่มั่น ประโยชน์สุขที่ว่านั้นคือ ไม่ว่าจะมีการสร้างความร่ำรวย หรือการสร้างประโยชน์ใดๆ ต้องให้นำไปสู่ “ความสุข” ของประชาชนทั้งประเทศเป็นเป้าหมายหลัก
ที่มา : การบรรยายพิเศษเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" โดย “เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา (ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล)”วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน 2549 เวลา 13.30 น.ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ชีวประวัติ : ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น