วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การเลี้ยงหมู ( หลุม )




ในปัจจุบันการเลี้ยงหมูบ้าน มีทั้งน้ำเสีย และขี้หมูทีส่งกลิ่นเหม็นกระจายไปทั่ว ส่งผลกระทบทำให้สิ่งแวดล้อมเลวลง เพื่อนบ้านใกล้เคียงก็ทนกลิ่นเหม็นไม่ไหวทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่ตลอด ซึ่งแต่เดิมเรานิยมเลี้ยงหมูไว้ประมาณ 1-2 ตัว เพื่อเอาไว้กินเศษอาหารที่เหลือจากครัวเรือน แล้วหาผักหญ้า ต้นกล้วย บอน มะละกอ เอามาเสริมทำให้ต้นทุนการผลิตไม่สูงเกินไป เป็นการเลี้ยงหมูแบบเก็บออมเงิน เป็นหมูออมสิน แต่ต่อมาวิวัฒนาการด้านอาหารสัตว์ ก้าวหน้าเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่นสามารถให้อาหารสำเร็จแก่ลูกหมูหย่านม เลี้ยงด้วยอาหาร 4-5 เดือน ก็สามารถทำน้ำหนักตัวได้ถึง 100 กก. แต่เมื่อคิดดูค่าอาหาร การจัดการและเทคโนโลยี แล้วเปรียบเทียบกับราคาขายในท้องตลาด ปรากฏว่า “ ขาดทุน ” ดังคำกล่าวที่ว่า “เลี้ยงหมูให้เจ๊ก” ทุนหาย กำไรหด หลายคนเลิกเลี้ยงกันแล้วหันไปประกอบอาชีพอื่นแทน

จากข้อความดังกล่าวข้างต้นทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า “ ทำไมเราไม่กลับไปเลี้ยงหมูแบบเดิม หรือการเลี้ยงหมูแบบเกษตรธรรมชาติหละ ” แต่ก็มีเสียงบอกมาว่า “ มันใช้เวลานานและพวกต้นกล้วย บอน มะละกอ หรือพืชผักต่างๆ ที่เป็นอาหารให้หมูก็ไม่ค่อยมี ขี้หมูก็มีกลิ่นเหม็นโชยไปทั่ว ทำให้ไม่อยากเลี้ยง ” แต่จากการศึกษาพบว่าการเลี้ยงหมูแบบเกษตรธรรมชาติ (หมูหลุม) นอกจากจะให้กำไรงามแก่ผู้เลี้ยง เนื่องจากสามารถลดต้นทุนอาหารได้ถึง 70 % แล้วยังทำให้ภารกิจการเลี้ยงหมูของเกษตรกรเบาแรงลง ไม่ต้องกวาดพื้นคอกกำจัดขี้หมู ไม่มีกลิ่นขี้หมู ไม่เฉอะแฉะ และไม่มีแมลงวันตอม จนสามารถห่อข้าวไปกินในพื้นคอกหมูได้โดยไม่น่ารังเกียจอีกทั้งดินและขี้หมูก็สามารถนำไปทำปุ๋ยขายได้อีก เขาทำกันอย่างไร...ไปดูกัน



โรงเรือน

ขนาดของคอก กว้าง 3.6 เมตร x ยาว 8.1 เมตร ( ประมาณ 30 ตารางเมตร ) สำหรับเลี้ยงหมูได้ 25 ตัว (หมู 1 ตัว ใช้พื้นที่ประมาณ 1.2 ตารางเมตร) สำหรับขนาดของคอกสามารถยืดหยุ่นได้ตามพื้นที่ ลักษณะของคอกต้องมีลักษณะโปร่ง เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ควรให้อากาศภายนอกเข้าไปในโรงเรือนมาก แล้วระบายออกไปทางด้านบน





พื้นคอก

1. ขุดดินออกให้บุกบงไปประมาณ 90 ซม. แล้วผสมวัสดุเหล่านี้ใส่แทนที่ ให้เต็ม เหมือนเดิมที่ขุดออกไป ได้แก่
1.1 ขี้เลื่อย หรือ แกลบหยาบ 100 ส่วน
1.2 ดินที่ขุดออก 10 ส่วน
1.3 เกลือ 0.3-0.5 ส่วน




เมื่อผสมแกลบ ดิน และเกลือแล้ว ให้ใช้จุลินทรีย์จากน้ำหมักพืช และจุลินทรีย์จากการ หมักนม ราดลงพื้นชั้นที่ 1 เมื่อความลึก 30 ซม. โรยดินชีวภาพเชื้อราขาวบาง ๆ และรดน้ำพอชุ่มแล้วทำเหมือนกันทุกชั้น ต่อไปโรยแกลบดิบปิดหน้าหนึ่งฝามือ แล้วปล่อยหมูลงไปได้เลย เมื่อปล่อยหมูลงไปได้สักพักแล้วก็ใช้จุลินทรีย์ 2 ช้อน ต่อ น้ำ 10 ลิตร พ่นลงพื้นคอกเป็นครั้งคราว เมื่อหมูขับถ่าย จุลินทรีย์นี้เองก็จะเป็นตัวย่อยสลายสิ่งปฏิกูลทั้งหลายลงดินไป เมื่อเลี้ยงหมูไปได้เท่านั้น แล้วก็ผสมพื้นคอกใหม่ใส่เข้าไปแทนที่เรานำไปทำปุ๋ย


พื้นคอกไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดไม่ต้องกวาด หมูจะขุดคุ้ย และมีความสุขอยู่กับการกินจุลินทรีย์ ในบรรยากาศที่สบายด้วยระบบถ่ายเทอากาศที่เป็นธรรมชาติ


การเลี้ยงดู

1. รางน้ำ และรางอาหาร ควรตั้งไว้คนละด้าน เพื่อให้หมูเดินไปมาเป็นการออกกำลังกายการให้อาหารให้เพียงวันละครั้ง

2. ให้พืชสีเขียว 1 ใน 3 ของอาหารที่ให้ เช่น หญ้าสด ต้นกล้วย มะละกอ มันเทศ หรือ วัชพืชที่หมูชอบ

3. อาหารจากตลาดใช้เพียง 30 ส่วน

4. เชื้อราขาวใบไผ่ + ดิน + รำข้าว คลุกผสมไว้ 4-5 วัน เอาอาหารจากตลาดผสมอย่างละครึ่งหมักรวมกันก่อน 24 ชั่วโมง แล้วจึงนำไปให้หมูกิน หากมีความสามารถหาหอยเชอรี่ นำมาบดผสมลงไปก็จะลดต้นทุนมาก ไม่จำเป็นต้องซื้ออาหารจากตลาด ส่วนพืชสีเขียวนำมาสับให้กินเป็นอาหารเสริม

5. น้ำดื่ม การผสมน้ำดื่มสำหรับหมู จะใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ผสมกันดังนี้

5.1 หัวเชื้อจุลินทรีย์ผัก หรือผลไม้ 2 ช้อน

5.2 น้ำฮอร์โมนสมุนไพร 1 ช้อน ( เหล้าดองยา )

5.3 นมเปรี้ยว 3 ช้อน

5.4 น้ำสะอาด 10 ลิตร

ผสมให้ดื่มเป็นประจำ หากพื้นคอกแน่น หรือแข็ง ก็ใช้น้ำหมักดังกล่าวพ่น หรือราดจะทำให้พื้นคอกมีกลิ่นหอมจูงใจให้หมูขุดคุ้ย และยังทำให้พื้นคอกร่วนโปร่ง มีอากาศถ่ายเท และ เกิดจุลินทรีย์มากมาย


จุลินทรีย์ท้องถิ่น ( ไอเอ็มโอ ) ( Indienous Micro Organism : IMO )

ในการทำการเกษตรธรรมชาตินั้น จะไม่นำเอาจุลินทรีย์ต่างพื้นที่เข้ามาใช้ รวมถึงจุลินทรีย์ที่ได้จากการผลิต หรือที่มีขายทั่วไปในท้องตลาดอย่างที่เราเห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ เนื่องจากจุลินทรีย์ดังกล่าวไม่แข็งแรง และไม่มีประสิทธิภาพเมื่อนำไปสูธรรมชาติอีกครั้ง ไม่เหมือนจุลินทรีย์ดั้งเดิมในท้องถิ่นที่อาศัยอยู่มาเป็นเวลานาน จนสามารถปรับตัว และมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ภายในพื้นที่ได้

การสังเกตถึงสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัวเรา ในป่าไผ่ บนใบไม้ที่กองทับถมกัน มักจะพบเส้นใยสีขาวของเชื้อราเต็มไปหมด จุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ มักจะเลือกสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง จุลินทรีย์ท้องถิ่นจะพบมากบริเวณป่าไผ่ และเศษใบไม้ที่กำลังย่อยสลาย ดังนั้นในการทำเกษตรธรรมชาติจึงมีการรวบรวมและใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ท้องถิ่นดังนี้


--------------------------------------------------------------------------------

ราขาวจากป่าไผ่ ( เคล็ดลับทำให้ขี้หมูไม่มีกลิ่นเหม็น )



วัสดุอุปกรณ์

1. กล่องไม้สี่เหลี่ยมเล็กสูงประมาณ 10 ซม.
2. ข้าวสุก 1 ลิตร
3. ทัพพีตักข้าว
4. กระดาษขาว
5. เชือกฟาง

วิธีทำ


นำจ้าวสุกใส่กล่องไม้ที่เตรียมมา ควรใส่จ้าวหนาไม่เกิน 7 ซม. และไม่ควรกดข้าวให้แน่น เพราะจะทำให้จุลินทรีย์พวกที่ต้องการออกซิเจนในการดำรงชีพไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างที่ควร
คลุม/ปิดกล่องด้วยกระดาษขาว และมัดด้วยเชือกฟางให้แน่น
ฝังกล่องข้าวบริเวณป่าไผ่ หรือบริเวณที่มีใบไม้ผุเน่าสบายจากเชื้อรา ก่อนที่จะนำกล่องข้าวฝังควรนำใบไผ่มารองก้นหลุมและราดน้ำพอให้ชุ่มก่อน และค่อยฝังกล่องข้าวลงไป ต่อไปนำใบไผ่มากลบกล่องข้าว ระวังอย่าให้ใบไม้กดทับกระดาษแรงเกินไปจนทำให้กระดาษไปถูกผิวหน้าของข้าวในกล่อง แล้วจึงค่อยรดน้ำอีกหนึ่งครั้ง
คลุมพลาสติกทับอีกชั้น เพื่อป้องกันน้ำฝนซึมเข้าไปในกล่อง และป้องกันหนูไม่ให้เข้าไปกินข้าวในกล่อง ใช้เวลาประมาณ 7 วัน ก็จะได้จุลินทรีย์เชื้อราขาวคลุมเต็มผิวหน้าของข้าว เมื่อได้จุลินทรีย์เชื้อราขาวมาแล้วนำมาเก็บไว้โดยใส่โหลหรือกระตุก เพื่อนำไปไว้ใช้ต่อไป
นำมาผสมกับกากน้ำตาล หรือน้ำตาลทรายแดง ในอัตรา 1 : 1 แล้วนำไปใส่ถังหมักไว้ประมาณ 7 วัน ก็สามารถนำน้ำหมักนั้นมาผสมกับน้ำ และนำไปรดพื้นคอกหมูได้




--------------------------------------------------------------------------------

อาหารหมัก

วัตถุดิบ

ผลไม้/พืชสีเขียว เช่น เศษผัก เถามันเทศ เถาฟักทอง หยวกกล้วย ผักตบชวา สาหร่าย มะละกอดิบ หน่อไม้ สัปปะรด แตงโม เลือกผมไม้ต่าง ๆ กะหล่ำ มะเขือส้ม ยอกมันสำปะหลัง ใบไผ่ ใบบอน วัชพืชต่าง ๆ ฯลฯ




วิธีทำ

นำผลไม้/พืชสีเขียว 100 กก. + น้ำตาลทราย 4 กก. + เกลือเม็ด 1 กก. ใส่ถังปิดฝาทิ้งไว้ 5-7 วัน แล้วนำไปให้หมูกิน หรือนำมาผสมกับอาหารจากตลาดผสมให้พร้อมอาหาร





--------------------------------------------------------------------------------



น้ำหมักผลไม้

วัตถุดิบ

ผลไม้สุก หรือผลไม้ที่ร่วงตกใต้ต้น เช่น มะม่วง มะละกอ สัปปะรด แอปเปิ้ล มะเฟือง กล้วย ฯลฯ ถ้ามีผลไม้ไม่พอก็สามารเติมพืชอื่นที่เป็นส่วนประกอบได้ เช่น รากผักโขม มันแกว มันเทศ

แครอท มันสำปะหลัง พืชตระกูลแตง หัวผักกาด เป็นต้น





วิธีทำ

นำผลไม้ที่เตรียมไว้ 1 กก. + น้ำตาลทรายแดง 1 กก. ในฤดูร้อน ส่วนในฤดูหนาวเพิ่มน้ำตาลทรายแดงเป็น 1.2 กก. ขั้นแรกนำผลไม้ที่เตรียมไว้มาผสมกับน้ำตาลทรายแดงครึ่งกิโลที่เหลืออีกที ต่อไปก็ปิดโหลด้วยกระดาษขาวและมัดด้วยเชือกฟาง ทิ้งไว้ประมาณ 4-5 วัน แล้วค่อยนำไปผสมกับน้ำใช้ฉีดพ่นให้กับพืชเพื่อบำรุงพืช หรือนำไปผสมน้ำให้หมูกินได้





--------------------------------------------------------------------------------




โยเกิร์ตหมู หรือ นมเปรี้ยวหมู

วัตถุดิบ

น้ำซาวข้าว
รำละเอียด
น้ำตาลทรายแดง
นมสดพาสเจอร์ไรซ์






วิธีทำ

นำน้ำซาวข้าวใส่ภาชนะ เว้นช่องว่างด้านบนไว้ 1.5 ซม. ทิ้งไว้ 7 วัน ต่อจากนั้นนำรำละเอียดโรยปิดหน้า ทิ้งไว้อีก 2 วัน หลังจากนั้นดูดออกมาในระบบกาลักน้ำ เติมนมสด พร้อมน้ำตาลทรายแดงทิ้งไว้ 7 วัน นำไปให้หมูดื่ม เพื่อระบบย่อยอาหารดีขึ้นเมื่อสัตว์มีอาการป่วย






--------------------------------------------------------------------------------



เหล้าดองยาหมู และหมากฝรั่งหมู

วัตถุดิบ

เหล้าขาว เบียร์
น้ำตาลทรายแดง
สมุนไพร หรือไม้เนื้ออ่อน เช่น กระถิน
วิธีทำ

หาขวดโหลขนาดใหญ่ชนิดที่ใช้ทำเหล้าดองยามา 1 ใบ นำสมุนไพรข้างต้นขนาด น้ำหนัก 1 กก. มาใส่โหล แล้วเทเบียร์ใส่ลงไปให้ท่วมสมุนไพร ทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง แล้วนำน้ำตาลทรายแดง 0.5 กก. เทลงไป แล้วใช้กระดาษขาวปิดทับมัดด้วยเชือกฟาง ทิ้งไว้ 4-5 วัน แล้วใส่เหล้าขาวลงไปประมาณ 2 ขวด ปิดทิ้งไว้ 15 วัน ก็สามารถนำมาผสมน้ำให้หมูดื่ม ช่วยให้หมูเจริญอาหาร




--------------------------------------------------------------------------------

น้ำหมักแคลเซียม




วัตถุดิบ

เปลือกไข่ เปลือกปู เปลือกกุ้ง
น้ำหมักจากข้าวกล้อง ( น้ำส้มสายชูแท้ที่ได้จากการหมักข้าว
วิธีทำ

รวบรวมเปลือกไข่ พยายามทำให้เนื้อเยื้อด้านเปลือกไข่ในหลุดออกไป
ตำ หรือ ทุบ ให้ละเอียด
ตากแดดอ่อน หรือใช้ความร้อนอุ่น ๆ เพื่อกำจัดสารอินทรีย์ที่เกาะอยู่บนเปลือกไข่
นำเปลือกไข่ที่แห้งแล้วใส่ในภาชนะแล้วใส่ในภาชนะแล้วเติมน้ำหมักจากข้าวกล้อง (น้ำส้มสายชูแท้ที่ได้ขากการหมักข้าว) ทิ้งช่องว่างให้มีอากาศอยู่ประมาณ 30 % จะเกิดฟองปฏิกิริยาขึ้นลงอย่างต่อเนื่อง ระยะเวลาของการเกิดปฏิกิริยา ทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 48 ชั่วโมง เปลือกไข่จึงหยุดการเคลื่อนไหวขึ้นลง และสงบนิ่ง แสดงว่ากระบวนการหมักสมบูรณ์แล้ว สารละลายที่ได้จะเป็นน้ำหมักแคลเซี่ยม ในกรณีที่ใช้เปลือกปู เปลือกกุ้ง ก็ทำวิธีเดียวกัน

วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การทำปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์โดยใช้ไส้เดือน


การเลี้ยงไส้เดือนดินและการผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน
ปัจจัยที่ควบคุมการเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ของไส้เดือนดิน ได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้น การระบายอากาศ อาหาร พี เอช
ไส้เดือนดินและการทำปุ๋ยหมัก
เศษซากอินทรียวัตถุที่ใช้ในการทำปุ๋ยหมัก เศษวัสดุเหลือใช้ทุกชนิดจากภาคการเกษตร อุตสาหกรรม หรือขยะอินทรีย์จากชุมชน มูลสัตว์ เช่น มูลม้า วัว หรือควาย วัสดุอื่นๆ เช่น ฟางข้าว ต้นกล้วย ผักตบชวา เปลือกข้าว และใบกระถิน
การย่อยสลายขยะของไส้เดือนดิน
ไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทยพันธุ์ฟีเรทธิมา พีกัวน่า ( Pheretima peguana) และไส้เดือนดินสายพันธุ์ต่างประเทศพันธุ์แลมบริคัส รูเบลลัส (Lumbricus rubellus) โดยใช้อัตราส่วนปริมาณไส้เดือนต่อปริมาณขยะเท่ากับ 1 : 2 กิโลกรัม (ไส้เดือนสายพันธุ์ไทย 1 กก. มี 1,200 ตัว ส่วนไส้เดือนสายพันธุ์ต่างประเทศ 1 กก. มี 970 ตัว) พบว่า ไส้เดือนดินสายพันธุ์ต่างประเทศพันธุ์แลมบริคัส รูเบลลัส (Lumbricus rubellus) มีความสามารถในการย่อยสลายขยะได้เร็วกว่าไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทยพันธุ์ฟีเรทธิมา พีกัวน่า (Pheretima peguana) โดยใช้เวลาในย่อยสลายขยะน้อยกว่า 2 เท่าของไส้เดือนสายพันธุ์ไทย และไส้เดือนดินทั้งสองสายพันธุ์ใช้เวลาในการย่อยเศษผลไม้ได้รวดเร็วที่สุด และใช้เวลาในการย่อยเศษอาหารและเศษผักใกล้เคียงกัน
สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเป็นพิษต่อไส้เดือนดิน ได้แก่ อัลดิคาร์ป เบนโนมิล บีเอชซี คาร์บาริล คาร์โบฟูราน คลอร์เดน เอนดริน เฮบตาคลอร์ มาลาไธออน พาราไธออน เป็นต้น

รูปแบบที่เหมาะสมในการใช้ไส้เดือนดินกำจัดขยะ
1. การกำจัดขยะเพื่อผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินในระดับครัวเรือ (แบบหลังบ้าน) 2. การกำจัดขยะเพื่อผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินในระดับชุมชน (แบบโรงเรือน)

การเตรียมโรงเรือนผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน
โรงเรือนกำจัดขยะเพื่อผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน ต้องมีหลังคากันฝนและพรางแสง เนื่องจากไส้เดือนดินไม่ชอบแสงสว่าง ในบริเวณบ่อเลี้ยงต้องมีตาข่ายปิดด้านบน หรือใช้ตาข่ายกั้นบริเวณด้านข้างรอบโรงเรือนเพื่อป้องกันศัตรูของไส้เดือน
บ่อเลี้ยงไส้เดือน กว้าง ประมาณ 1 เมตรความยาวแล้วแต่ต้องการ และมีความลึกไม่เกิน 0.5 เมตรจะใช้เป็นบ่อเลี้ยงที่ใช้ผลิตปุ๋ยหมัก มูลไส้เดือนดินจากวัสดุอินทรีย์ได้ดีและสะดวกในการจัดการ
บ่อเก็บน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน ควรก่อสร้างบริเวณด้านข้างโรงเรือนหรือด้านหลังโรงเรือนให้น้ำหมักจากบ่อเลี้ยงไส้เดือนไหล เข้าไปเก็บไว้ในบ่อเก็บน้ำหมักได้ง่าย ขนาดของบ่อเก็บน้ำหมักจะมีขนาดเล็กกว่าบ่อเลี้ยงไส้เดือนตามความเหมาะสมของปริมาณ น้ำหมักที่ได้
การเตรียมวัสดุรองพื้นเพื่อเป็นที่อาศัยของไส้เดือนดิน
ใช้วัสดุอินทรีย์สด เป็นวัสดุรองพื้นหนาประมาณ 6 นิ้ว โดยเน้นส่วนที่เป็นผักสีเขียว วัชพืช ขยะสดโดยจะใช้ปุ๋ยคอกโรยบนหน้า ให้หนาประมาณ 2 นิ้ว โรยปูนขาวให้ทั่วบริเวณ แล้วจึงให้ความชื้นเล็กน้อยประมาณ 20%ของน้ำหนักขยะสดหรือให้เปียกชุ่มแต่ไม่ให้มีน้ำ แช่ขังทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน จะพบว่าเกิดขบวนการหมัก สังเกตได้โดยมีความร้อนที่สูงขึ้นทิ้งไว้ประมาณ 4-6 สัปดาห์ความร้อนที่เกิดขึ้นจะ หายไปหรืออาจจะเร็วกว่านี้ ถ้ามีการหมักในกองที่มีความหนาน้อยกว่าที่กำหนดไว้ การหมักที่สมบูรณ์จะทำวัสดุมีสีเข้มจนเป็นสีน้ำตาล มีลักษณะร่วนซุยไม่มีกลิ่นเหม็น
การเริ่มต้นเลี้ยงไส้เดือนดิน ในระยะเตรียมการจึงควรมีปริมาณไส้เดือนดินอย่างน้อย 1 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4 – 6 สัปดาห์ ก็จะทำให้ปริมาณไส้เดือนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และทวีจำนวนมากขึ้นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
ปริมาณอาหารที่ให้ไส้เดือน โดยปกติไส้เดือนดินชอบอาหารที่มีปริมาณโปรตีนสูง รวมถึงในดินที่มีปริมาณอินทรียวัตถุจำนวนมาก ไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทย Pheretima peguana และ Pheretima posthuma จะกินอาหารเฉลี่ย 120-150 มก./น้ำหนักตัว 1 กรัมต่อวัน และ พบว่าไส้เดือนดินสายพันธุ์ Lumbricus rubellus และ Eisenia foetida จะกินอาหารประมาณ 240-300 กรัมต่อวัน ต่อน้ำหนักไส้เดือน 1 กิโลกรัม ซึ่งเป็นจำนวน 2 เท่าของอาหารไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทย
การให้อาหารที่เป็นเศษอินทรียวัตถุกับไส้เดือนดินในบ่อเลี้ยง นำขยะสดจากชุมชนมาแยกวัสดุที่ไม่ย่อยสลายเช่นถุงพลาสติกต่างๆ ออก ปริมาณขยะสดที่ควรเตรียมให้ไส้เดือนดิน ควรจะมีการเตรียมการหมักให้เริ่มบูดเสียก่อน นำมาใส่ในบ่อเลี้ยงไส้เดือนความหนาไม่เกิน 10 เซนติเมตร เนื่องจากถ้าหนามากกว่านี้ จะทำให้เกิดความร้อน
การแยกไส้เดือนออกจากปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้แสงไฟไล่ ใช้ตะแกรงร่อนด้วยมือ ในกรณีที่มีมูลไส้เดือนปริมาณน้อย และใช้เครื่องร่อนขนาดใหญ่ ทำงานด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ช่วยแยกไส้เดือนดินออกมาจากกองปุ๋ยหมักในกรณีที่มีปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินในปริมาณมาก

การทำปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์โดยใช้ไส้เดือน

ปัญหาและการจัดการโรงเรือนเลี้ยงไส้เดือนดิน

ความร้อน จัดการโดยควบคุมความหนาของขยะที่ให้

กลิ่น การจัดการสามารถใช้น้ำหมักมูลไส้เดือนในบ่อ หรือใช้กากน้ำตาลรดก็สามารถกำจัดกลิ่นได้

บ่อเลี้ยงมีสภาพเป็นกรด แก้ไขได้โดยการใช้ปูนขาวโรยบางๆ บริเวณผิวดิน และรดน้ำตามเดือนละครั้ง

แมลงศัตรูของไส้เดือนดิน เช่น เป็ด ไก่ นก พังพอน กบ หนู งู

ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินและปุ๋ยน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน

ปุ๋ยหมักชีวภาพโดยใช้ไส้เดือนดิน ( Vermicompost) หมายถึง การใช้ไส้เดือนดินมาช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุเพื่อให้เกิดปุ๋ยหมัก ที่มีคุณภาพดี ปุ๋ยหมักที่ได้อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มูลของไส้เดือนดิน มูลไส้เดือนดิน (Castings, Cast, Vermicast) ผลผลิตขั้นสุดท้ายจากกระบวนกินหรือการย่อยสลายอินทรียวัตถุของไส้เดือนดิน ซึ่งจะทำให้ได้ปุ๋ย 2 รูปแบบ คือ ปุ๋ยแห้ง (drying casting) และปุ๋ยน้ำ (Liquid castings)

คุณสมบัติของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน

มูลไส้เดือนดินจะลักษณะเป็นส่วนผสมที่เป็นเม็ดร่วนละเอียด มีสีดำ มีความโปร่งเบา และมีรูพรุน ถ่ายเทอากาศ และน้ำได้ดีมาก และมีความจุความชื้นสูง ธาตุอาหารที่มีอยู่ในปุ๋ยหมักจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ในการผลิต

แนวทางการนำไส้เดือนดินมาใช้ประโยชน์

1) นำมาย่อยสลายขยะอินทรีย์และเศษอาหารจากบ้านเรือนเพื่อผลิตปุ๋ย หมักมูล ไส้เดือนดิน นำมาใช้ในการ เกษตรลด ต้นทุนการซื้อปุ๋ยเคมี

2) นำมาใช้เลี้ยงสัตว์ เนื่องจากมีปริมาณเปอร์เซ็นต์โปรตีนที่สูงมากช่วยลดค่าใช้จ่ายในค่า อาหารสัตว์

3) ใช้ฟื้นฟูสภาพดินที่เสื่อมโทรมเช่นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และเหมืองแร่เก่า

4) ใช้เป็นดัชนีทางสิ่งแวดล้อมในการตรวจสอบธาตุโลหะหนักและสารเคมีที่ปนเปื้อน จากการเกษตรในดิน

5) ใช้เป็นยาบำรุงทางเพศ

ประโยชน์ของไส้เดือนดิน

1) ช่วยพลิกกลับดิน นำดินด้านล่างขึ้นมาด้านบนโดยการกินดินแล้วถ่ายมูลนำแร่ธาตุ จากใต้ดินขึ้นมาให้ กับพืชช่วยผสมคลุกเคล้า แร่ธาตุในดิน ทำลายชั้นดินดาน

2) ช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ในดิน ซากพืช ซากสัตว์ และอินทรียวัตถุต่างๆ ทำให้ธาตุต่างๆอยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส กำมะถัน แคลเซียม และธาตุอาหารอื่นๆ ถูกปลดปล่อยออกมา

3) ช่วยส่งเสริมในการละลายธาตุอาหารพืชธาตุอาหารพืชที่อยู่ในรูปอนินทรีย์สารที่พืช ใช้ประโยชน์ ไม่ได้ไปอยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ ประโยชน์ได้

4) ช่วยในการปรับปรุงโครงสร้างของดิน ทำให้เนื้อดินและโครงสร้างของดินดีไม่แน่นทึบและแข็ง

5) การชอนไชของไส้เดือน ทำให้ดินร่วนซุย การถ่ายเทน้ำและอากาศดี ดินอุ้มน้ำได้ดีขึ้นเพิ่มช่องว่าง ในดินทำให้รากพืชชอนไชได้ดี






วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เศรษฐกิจ พอเพียง แบบ ชีวิตเพียง พอ















เศรษฐกิจ พอเพียง แบบ ชีวิตเพียง พอ




"โตแล้วแตก" เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งคือ
เมื่อเศรษฐกิจโตมากขึ้น ในที่สุดก็จะแตกออก
และก็จะมาเริ่มต้นกันใหม่
----------------------------------------------
เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่เศรษฐกิจสำหรับคนยากคนจน
ไม่ใช่เศรษฐกิจที่จะต้องมาห่อตัว พระองค์ท่านให้ร่ำรวย
แต่ร่ำรวยแล้วต้องรักษาให้คงอยู่ ร่ำรวยและต้องยั่งยืน
และต้องกระจายอย่างทั่วถึง

"เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไข เพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์
ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจาก การเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้าง พื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์ สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา (ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล) ได้ให้เกียรติมาบรรยายพิเศษเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับฟัง ดังนี้ ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมีฐานแนวคิดที่สะท้อนมาจากผลการพัฒนาของประเทศไทยตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันและสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว อาจกล่าวได้ว่า เวลานี้ระบบเศรษฐกิจโลกเหลือเพียงขั้วเดียวคือขั้วเสรีนิยมหรือทุนนิยม หรือ บริโภคนิยม ซึ่งในโลกทุนนิยมนี้ประเทศต่างๆ มุ่งแสวงหาความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเป็นที่ตั้ง และลักษณะสำคัญคือแสวงหาความร่ำรวยจากการลงทุน การบริโภคถือเป็นทฤษฎีหลักของระบบทุนนิยม ถ้าปราศจากจุดนี้แล้วถือว่าเจริญไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงเกิดภาวะของการแข่งขันกันอย่างรุนแรงและ มีการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคอยู่ตลอดเวลา โดยการกระตุ้นกิเลส ทำให้เกิดการอยาก ซึ่งจะทำให้ระบบนี้อยู่ได้ อย่างไรก็ตามสินค้าที่นำมาบริโภคทุกอย่างต้องผลิตมาจากวัตถุดิบที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติที่นำมาแปรรูปเพื่อให้ใช้งานได้ ขณะเดียวกันเมื่อมีการบริโภคก็ก่อให้เกิดของเสียออกมาในปริมาณเกือบจะเท่ากัน ฉะนั้นโลกจะต้องรับภาระอย่างมาก คือจะต้องป้อนวัตถุดิบเพื่อการบริโภคและหลังจากนั้นต้องแบกรับภาระขยะของเสียที่มาจากการบริโภค โดยที่การจัดการเรื่องกำจัดขยะเสียยังทำได้น้อยมาก การนำกลับมาใช้ใหม่มีแค่ 19 % ยิ่งเวลานี้มีการอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคจะเห็นว่าสินค้าประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งมีจำนวนมาก
ปัญหาคือทรัพยากรธรรมชาติจะแบกรับไหวหรือไม่ คำตอบก็คือไม่ไหว เพราะเวลานี้ทั่วโลกมีการบริโภคในอัตรา 3 : 1 คือทรัพยากรธรรมชาติถูกบริโภคไป 3 ส่วน แต่สามารถชดเชยกลับมาได้เพียง 1 ส่วน ซึ่งถ้ายังคงมีการบริโภคกันในอัตรานี้ต่อไป ก็จะต้องพบกับปัญหาในที่สุด อย่างไรก็ตามได้เริ่มมีกระแสของกลุ่มคนที่มีปัญญาเกิดขึ้น เพราะเริ่มมองเห็นถึงภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อสภาวะโลกปัจจุบัน ในประเทศไทยตั้งแต่มีแผนพัฒนาฉบับแรก ใน ปี 2505 ประเทศไทยได้มี การพัฒนาตามรูปแบบของทุนนิยมเช่นกันเพราะในตอนที่คิดจะทำแผนพัฒนาฯ ได้มีการเชิญ ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเข้ามาสอนวิชาการวางแผนให้ โดยมีการนำเอาปรัชญาการวางแผนแบบตะวันตกเข้ามาด้วยคือมุ่งสร้างความร่ำรวยทางด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว ซึ่งประเทศไทยก็ได้มีการพัฒนาให้เจริญเติบโตขึ้นจริง แต่เป็นความเจริญเติบโตที่สร้างและแลกกับการต้องสูญเสียป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายล้างไปเป็นจำนวนมาก จะเห็นว่าความเจริญเติบโต ซึ่งได้ดำเนินมา ตั้งแต่ปี 2505 บัดนี้ มีเหตุการณ์หนึ่งที่ก่อให้เกิดวิกฤตต่อเศรษฐกิจของประเทศ คือโตแล้วแตก เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งคือ เมื่อเศรษฐกิจโตมากขึ้น ในที่สุดก็จะแตกออก และก็จะมาเริ่มต้นกันใหม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการมองหาว่าอะไรคือสาเหตุของวิกฤตการณ์ฟองสบู่แตกครั้งนั้นจะพบว่าเป็นเพราะการเติบโตของไทยอยู่บนฐานที่ยังไม่มีความพร้อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ว่าการพัฒนาบ้านเมืองเหมือนการสร้างบ้านเวลาที่มีการสร้างบ้านสิ่งแรกที่ต้องทำคือต้องวางฐานรากฝังเสาเข็ม และเสาเข็มแต่ละต้นจะถูกคำนวณมาแล้ว ว่าต้องแบกน้ำหนักเท่าใดแล้วจึงสร้างบ้าน แน่นอนว่าถ้าเสาเข็มวางไว้สำหรับบ้านสองชั้นก็จะแบกรับได้แค่ บ้านสองชั้นเท่านั้น การพัฒนาประเทศก็เช่นกันแต่ที่ผ่านมาประเทศไทยเหมือนการย่างก้าวเข้าสู่การพัฒนาโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงฐานรากของประเทศ ซึ่งน่าจะมีฐานในภาคการเกษตรแต่กลับมุ่งไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีความต้องการปัจจัยสำคัญ 3 เรื่อง คือ
1) เงิน ซึ่งประเทศไทยอาจมีไม่พอก็ไปกู้มาเพิ่ม
2) เทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยไม่เคยสร้างอะไรขึ้นมาเองก็จะนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาใช้ และ
3) คน ซึ่งมาตรฐานการศึกษาของไทยต่ำลง มหาวิทยาลัยมากขึ้นแต่คุณภาพลดลง แต่ถ้าคนที่รู้ด้านการในประเทศไม่มีก็ไม่เป็นไรอีกก็จ้างต่างชาติเข้ามา
จะเห็นว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยตั้งอยู่บนฐานของคนอื่นทั้งสิ้น และเมื่อมีการก็ย้ายฐานการลงทุนออกไปเศรษฐกิจ ก็ล้มในที่สุด สถานการณ์นี้เป็นวัฏจักรของการพัฒนาเหมือนกับวัฏจักรเชิงพุทธคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงยึดหลักการพอดีตั้งแต่แรกโดยให้มีการพัฒนาไปตามขั้นตอน เป็นระยะ ๆ เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่เศรษฐกิจสำหรับคนยากคนจน ไม่ใช่เศรษฐกิจที่จะต้องมาห่อตัว พระองค์ท่านให้ร่ำรวยแต่ร่ำรวยแล้วต้องรักษาให้คงอยู่ ร่ำรวยและต้องยั่งยืน และต้องกระจายอย่างทั่วถึง พระองค์ท่านรับสั่งให้คำไว้สามคำเป็นหลักสามประการและฐานใหญ่ไว้หนึ่งฐาน เป็นแนวทางของการพัฒนาประเทศ และจะนำไปใช้ในการบริหารงานในองค์กรใดๆ ก็ได้ ดังนี้ ประการที่หนึ่ง ให้ใช้เหตุผลอย่าใช้กิเลสตัณหาเป็นเครื่องนำทาง อย่าเอาแต่กระแส ต้องมีความกล้าหาญเพียงพอที่จะเลือกหนทางว่าประเทศไทยต้องการจะพัฒนาไปทางไหนไม่จำเป็นต้องตามกระแสของโลก ประการที่สอง ทำอะไรพอประมาณ การพอประมาณคือตรวจสอบศักยภาพของตนเองก่อน ฐานของตนเองอยู่ตรงไหน การจะพัฒนาอะไรต้องดูจากศักยภาพที่มีความเข้มแข็งก่อน ประการที่สาม ทำอะไรให้มีภูมิคุ้มกันตลอดเวลา เพราะไม่รู้พรุ่งนี้จะมีอะไรเกิดขึ้น ปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การวางแผนพัฒนาทำได้ยาก มีปัจจัยความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา จึงต้องมีวิสัยทัศน์ ตัวอย่างเช่น เรื่องราคาน้ำมันต้องมองในอนาคต ถ้านำไบโอดีเซลมาใช้จะช่วยลดความเสี่ยงด้านราคาน้ำมันได้หรือไม่ เป็นต้น นอกจากสามคำนี้พระองค์ท่านทรงให้มีฐานรองรับที่สำคัญอีกคำหนึ่งคือ คนต้องดีด้วย ต้องมีจริยธรรมและคุณธรรม มีธรรมาภิบาล พระองค์ท่านทรงวางหลักการไว้ดีมาก แต่ปัญหาเกิดจากยังไม่มีความพยายามที่จะสร้างความเข้าใจกัน สุดท้าย คงต้องอันเชิญเป้าหมายในการครองแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ว่าเป้าหมายในการครองแผ่นดินของพระองค์ท่าน คือเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ซึ่งคนไทยทุกคนควรยึดคำนี้เป็นที่มั่น ประโยชน์สุขที่ว่านั้นคือ ไม่ว่าจะมีการสร้างความร่ำรวย หรือการสร้างประโยชน์ใดๆ ต้องให้นำไปสู่ “ความสุข” ของประชาชนทั้งประเทศเป็นเป้าหมายหลัก
ที่มา : การบรรยายพิเศษเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" โดย “เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา (ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล)”วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน 2549 เวลา 13.30 น.ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ชีวประวัติ : ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

คลินิคเพื่อนคู่คิด เศรษกิจพอเพียง

ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนไปทำให้กลับเป็น
"เศรษฐกิจแบบพอเพียง"
ไม่ต้องทั้งหมดแม้แค่ครึ่งก็ไม่ต้องอาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่
ก็จะสามารถอยู่ได้การแก้ไขอาจต้องใช้เวลาไม่ใช่ง่ายๆ
โดยมากคนก็ใจร้อนเพราะเดือดร้อน
แต่ว่าถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ก็สามารถที่จะแก้ไขได้

พระราชดำรัส
พระราชทาน​เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐
นี้คือแรงบันดาลใจ ที่ต้องการทำ Web ที่นี้เป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับเศรษกิจพอเพียง
ทางทีมงานศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปางหวังและตั้งใจว่าทีแห่งนี้จะรวบความรู้
เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะได้ให้ผู้ที่เข้ามาเยื่ยมชม Web blog แห่งนี้จะได้นำ
ความรู้ไปใช้ตามแนวทางเศรษกิจต่อไป